- งานวัดมีความเป็นมายาวนานหลายร้อยปี แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เชื่อว่างานวัดแบบโบราณเป็นไปอย่างเรียบง่าย ต่างจากงานวัดในช่วงรัชกาลที่ 5 หรือในปัจจุบัน ช่วงเวลาจัดงานวัดมักจะเกี่ยวพันกับฤดูการทำไร่ทำนา คือหากไม่จัดในช่วงหน้าแล้งในเดือน 5 ที่ชาวนาว่างจากเก็บเกี่ยว ก็จะจัดในช่วงหน้าน้ำเดือน 11-12 ที่ข้าวกำลังตั้งท้อง ผืนน้ำแผ่กระจายทั่วท้องทุ่ง พายเรือสัญจรไปมาสะดวก เมื่อข้าวสุกเต็มที่ก็ลงแขกเก็บเกี่ยว แล้วพากันขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทราย ทำอาหารเลี้ยงพระ ทำบุญกราบไหว้พระพุทธรูปตามประเพณี พ่อค้าแม่ค้านำผลไม้มาวางขาย บ้างก็มีการแข่งเรือ ร้องรำทำเพลงอย่างสำราญใจ
- หากพูดถึงงานวัดยอดนิยมที่ยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก็คงหนีไม่พ้น งานวัดภูเขาทอง หรือ งานวัดสระเกศ ซึ่งสันนิษฐานว่าเริ่มจัดเป็นงานที่มีการออกร้านขายของครั้งแรก เพื่อนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาบรรจุบนองค์พระเจดีย์บรมบรรพตในปี พ.ศ. 2421 โดยก่อนงานเทศกาลทุกปี จะมีพิธีห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์บรมบรรพตที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นอันรู้กันว่า ถ้ามองเห็นพระเจดีย์บนยอดภูเขาทองมีผ้าแดงพันรอบองค์เมื่อไหร่ ก็เป็นสัญญาณว่างานภูเขาทองกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว
- หลากหลายกิจกรรมบันเทิงในงานวัดตอบโจทย์คนต่างวัย บ้างก็ปรับเปลี่ยนและเลือนหายไปตามยุคสมัย อย่างละครลิงขวัญใจผู้ชมเด็ก ซึ่งในงานภูเขาทองยุคหนึ่งมีถึง 3-4 คณะ หนังถ้ำมองที่ทำเป็นตู้หยอดเหรียญสำหรับดูคนเดียว โดยจะมีฟิล์มหนังผูกติดกับตู้ให้บริการ มีโปรแกรมหนังให้เลือกดูทั้งแบบหนังเต้นและภาพสามมิติ เช่น มิกกี้เมาส์ ซูเปอร์แมน มนุษย์ค้างคาว ฯลฯ หรือเกมช้อนปลาที่ท้าทายความสามารถของผู้เล่นด้วยช้อนด้ามจับสั้นซึ่งใช้กระดาษว่าวหรือกระดาษชำระแทนตาข่าย บ้างก็ยังมีให้เห็นทั่วไปในปัจจุบัน เช่น เกมยิงปืน ปาเป้า สอยดาว ม้าหมุน ชิงช้าสวรรค์
- แม้จะเหลือเพียงเรื่องราวและภาพถ่ายเป็นหลักฐาน แต่ “งานวัดเบญ” ก็เป็นที่กล่าวขานมาโดยตลอด เพราะเป็นงานวัดที่พิเศษจากงานวัดอื่นๆ ซึ่งจัดโดยชุมชน งานวัดเบญจมบพิตรฯ เกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้ปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ และให้จัดงานฉลองสมโภชวัดในปีพ.ศ. 2443 โดยทรงเป็นประธานจัดงานด้วยพระองค์เอง ภายในงานเป็นการออกร้านโดยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร เป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้ชมมหรสพแบบราชสำนัก เช่น โขน ละครใน ฯลฯ พร้อมด้วยการออกร้านที่น่าสนใจ เช่น ร้านถ่ายรูปของโรเบิร์ต เลนซ์ ช่างภาพชื่อดัง การเปิดหีบเพลงชาวตะวันตก และหุ่นทรงเครื่องของหม่อมราชวงศ์เถาะในปีพ.ศ. 2443 ซึ่งเป็นของแปลกใหม่ในยุคนั้น
- ภายในงานวัดหลวง ยังมี ร้านหลวง หรือร้านของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในแต่ละปีจะจัดไม่ซ้ำกัน บ้างก็จำหน่ายหนังสือ บ้างก็จัดแสดงละครเพื่อเก็บเงินเข้าบำรุงวัด แต่ปีที่พิเศษที่สุดคือปีพ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งร้านถ่ายรูปหลวง และเสด็จฯ มาประทับที่ร้านทุกคืน เพื่อทรงถ่ายรูปพระราชทานแก่บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ และชาวต่างชาติที่กราบบังคมทูลร้องขอ โดยทรงเก็บค่าถ่ายรูปคนละ 20 บาทเพื่อสมทบทุนโดยเสด็จพระราชกุศล นอกจากนี้ ยังทรงออกแบบจัดฉากถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง บางฉากทรงทำเป็นกรอบรูปจำลอง แล้วโปรดฯ ให้เจ้านายยืนประทับอยู่ด้านหลัง บางฉากทรงกำกับให้โพสท่าต่างๆ หรือบางรูปทรงถ่ายเป็นภาพล้อเลียน
- มอเตอร์ไซค์ไต่ถัง หนึ่งในการแสดงยอดฮิตในงานวัด เริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปีพ.ศ. 2475 - 2499 ต่อมาจึงมีคณะแสดงรถไต่ถังเกิดขึ้นในเมืองไทยหลายคณะ เช่น คณะบุญมีโชว์ คณะนายฉ่ำ อินทรโฆษิต คณะล้อมมฤตยู คณะกรังปรีด์ และคณะเปรื่อง เรืองเดช การแสดงมอเตอร์ไซค์ไต่ถังส่งอิทธิพลไปถึงวงการหนังไทยยุค 16 ม.ม. หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง “น้ำค้าง” (1966) ซึ่งเพชรา เชาวราษฎร์ รับบทนางเอกเป็นนักขี่มอเตอร์ไซค์ไต่ถัง ประกบคู่กับมิตร ชัยบัญชา และลือชัย นฤนารถ
- หากเทียบงานวัดกับห้างสรรพสินค้า ซุ้มของแปลกในงานวัดก็คงไม่ต่างจากโรงละครที่มีทั้งการแสดงมายากลและนิทรรศการแห่งความประหลาด ทั้งเด็กสองหัว คนปากเท่ารูเข็ม นางเงือก จิ้งจกห้าหาง ควายแปดขา ความผิดปกติทางร่างกายของคนและสัตว์เหล่านี้ถูกนำมาแสดงในซุ้มของแปลกเพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจ คล้ายกับการแสดงของคณะละครสัตว์ในต่างประเทศที่เรียกว่า Freak Show โดยด้านหน้าซุ้มเหล่านี้ มักกระตุกต่อมความอยากรู้ของคนดูด้วยป้ายโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ พร้อมหยิบจับเทคนิคมายากลมาสร้างความฉงนในหลายโชว์ เช่น ท้าวหัวข่อหล่อ ที่ดูเหมือนหัวคนวางอยู่บนโต๊ะ แต่ใต้โต๊ะกลับว่างเปล่าไม่มีขาโผล่ออกมา ฯลฯ
- บรรยากาศโรแมนติกในค่ำคืนงานวัดแบบร่วมสมัยที่มีทั้งร้านรวงแบบโบราณไปจนถึงม้าหมุน ถูกนำมาใช้เป็นฉากสำคัญของ “พี่มาก..พระโขนง” (2013) ภาพยนตร์ไทยจากค่ายจีทีเอชที่สร้างปรากฏการณ์กวาดรายได้แตะหลักพันล้านบาท โดยทีมเขียนบทวางเส้นเรื่องให้คู่พระนางพากันไปเที่ยวงานวัดหลังจากที่นางนาคตายไปแล้ว นำไปสู่บทสนทนาบนชิงช้าสวรรค์ที่สะกิดให้ผู้ชมหันมามองความรักของพระเอกในตำนานซึ่งถูกตีความใหม่ เพราะแม้จะรู้อยู่แล้วว่านางนาคตายแล้ว แต่ก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ และกลับยังรั้งให้คนรักอยู่กินด้วยกันต่อไปเสียเอง นับเป็นการฉีกกรอบตำนานหนังสยองขวัญ สู่ภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ที่ผสมผสานอารมณ์รักหวานซึ้ง ตลกขบขัน และเขย่าขวัญไว้ได้อย่างกลมกล่อม ด้วยกระบวนการพัฒนาบทนานถึงหนึ่งปีครึ่งท่ามกลางบริบทแบบที่คนไทยคุ้นเคย
CR : ณัฏฐนิช ตัณมานะศิริ
ที่มา:
บทความ "งานภูเขาทอง" จาก watsraket.com
บทความ "รถไต่ถัง : วังวนมหัศจรรย์แห่งวัยเยาว์" (2008) จาก oknation.nationtv.tv
วิดีโอ “คลายฉงน : จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเรื่องราวของงานวัดไทย" (2014) โดย thairath จาก youtube.com
วิดีโอ “พี่มาก..พระโขนง เบื้องหลังฉากงานวัด” (2013) โดย GTHchannel จาก youtube.com
หนังสือ "ถนนสายอดีต เล่ม 3" (2005) โดย เอนก นาวิกมูล
หนังสือ "ราษฎรบันเทิง" (1999) โดย เอนก นาวิกมูล
หนังสือ “รูปทรงถ่าย ในงานวัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม รัตนโกสินทร์ศก 123” (2015) โดย กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร
หนังสือ “The Making of พี่มาก..พระโขนง” (2013) โดย วิชัย มาตกุล, นทธัญ แสงไชย, นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
ที่มา http://www.tcdc.or.th/creativethailand/article/ClassicItem/27667